ช็อกหนัก หนุ่มใช้วุฒิ ปวส. สอบบรรจุได้ ที่แท้ “วุฒิปลอม” ต้องออกจากราชการ

Author:

หนุ่มเรียนจบ ปวส. “วิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน ศูนย์รังสิต” นำวุฒิไปสอบบรรจุได้ แต่ไม่มีชื่อเป็นผู้จบการศึกษาในสารบบของกระทรวงศึกษาฯ ตามไปถามผู้บริหารวิทยาลัยที่ขอนแก่น ได้รับคำยืนยันเป็น “วุฒิการศึกษาปลอม” เพราะไม่มีการเปิดศูนย์สอนที่รังสิต เจ้าตัวเผยอนาคตดับวูบ ต้องถูกให้ออกจากงาน เดินหน้าฟ้องเอาผิดทุกคนที่เกี่ยวข้อง

เวลา 09.00 น. วันที่ 15 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวได้ติดตามความคืบหน้ากรณีที่ นายสายชล แสนคำ อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22 ม.1 ต.บ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ปัจจุบันรับราชการในตำแหน่งนายช่างตรวจสภาพรถ ที่กรมการขนส่งทางบก เดินทางมาที่ จ.ขอนแก่น เพื่อตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาที่วิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน ตั้งอยู่เลขที่ 513 หมู่ที่ 9 ถนนสร้อยศรีอุทิศ ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น เนื่องจาก นายสายชล ได้เรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2557 ประเภทวิชา อุตสาหกรรม สาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล สาขางานเทคนิคยานยนต์ ของวิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน ที่ศูนย์รังสิต ตั้งแต่ปี 2560 และจบการศึกษา 30 มีนาคม 2562 และใช้วุฒิการศึกษายื่นประกอบเอกสารการเข้าบรรจุรับราชการที่กรมการขนส่งทางบก ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ส่งวุฒิการศึกษาตรวจสอบที่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่พบชื่อของนายสายชล กรมการขนส่งทางบกจึงให้ นายสายชล ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับวิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน ศูนย์รังสิต ซึ่งได้คำตอบว่ารายชื่อตกหล่นขณะส่งให้กระทรวงศึกษาธิการ จะประสานกับทางผู้อำนวยการและผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน ที่จังหวัดขอนแก่น และขอให้นายสายชลลงทะเบียนเรียนใหม่ เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นวิทยาลัยจะเสื่อมเสียชื่อเสียง นายสายชลจึงเดินทางมาจังหวัดขอนแก่น เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง

นายสายชล แสนคำ พร้อมญาติจึงได้เดินทางไปที่วิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน ได้พบกับ ดร.อิทธิ สีวันนู ผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัย ที่ห้องทำงานของผู้รับใบอนุญาต โดยได้ยื่นเอกสารที่เป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่ได้รับจากคณะผู้บริหารที่ศูนย์รังสิต ใบเสร็จรับเงิน ที่ออกโดยศูนย์การศึกษาศูนย์รังสิต ให้กับ ดร.อิทธิ ทำการตรวจสอบ ซึ่งทันทีที่ ดร.อิทธิ ทำการตรวจสอบนั้น ยืนยันว่า ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่นายสายชลได้รับจากคณะผู้บริหารที่ศูนย์รังสิตนั้นเป็นของปลอม ซึ่งได้ทำการปลอมแปลงขึ้นมา โดยมีจุดสังเกตที่ชัดเจนคือ แผ่นกระดาษไม่มีโลโก้สัญลักษณ์ปรากฏ ตรายางที่เป็นรอยประทับก็ไม่ใช่ของวิทยาลัย ลายเซ็นของตนก็ไม่ใช่

จากนั้น ดร.อิทธิ สีวันนู ผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยฯ ได้โทรสายตรงถึงอาจารย์ท่านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับศูนย์รังสิต ซึ่ง นายสายชล ยืนยันว่าเป็นคนให้ข้อมูลว่าเอกสารทุกอย่างเป็นของจริงที่ผู้บริหารและผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน  ที่ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ออกให้กับนักเรียนรุ่นเดียวกัน จำนวน 30 คน ซึ่งจากการพูดคุยทางโทรศัพท์ อาจารย์ท่านดังกล่าวยืนยันว่า มีการพูดคุยกับผู้อำนวยการวิทยาลัยในการเปิดศูนย์รับสมัครและสอนนักเรียนที่ศูนย์รังสิตแล้ว จึงทำการเปิดสอนจนนักเรียนจบหลักสูตร ดร.อิทธิ จึงตอบกลับว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน ไม่เคยทำข้อตกลงหรือทำเอ็มโอยูเปิดศูนย์เพื่อรับสมัครและทำการสอนที่ใดเพิ่ม มีเพียงการรับนักเรียนของซีพีออลล์เท่านั้น ฉะนั้นเรื่องของนายสายชล จึงเป็นการหลอกลวงประชาชน

ดร.อิทธิ สีวันนู ยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ได้ตรวจสอบเอกสารทั้งหมดแล้ว เป็นของปลอมทั้งหมด บิลเงินสดที่ผู้รับเงินออกให้นักเรียนที่จ่ายเงินค่าเทอมก็เป็นบิลเงินสดที่ซื้อเล่มตามท้องตลาด ไม่ใช่ใบเสร็จของวิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน อย่างไรก็ตาม ได้รับเรื่องของนายสายชลแล้ว และจะทำเรื่องให้ ผศ.ดร.ณฐกรณ์ อนันต์วรจินดา ผู้อำนวยการวิทยาลัย ลงนามในหนังสือว่า กรณีนายสายชลมาขอตรวจสอบเรื่องวุฒิการศึกษานั้น วิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน ขอยืนยันว่าตรวจสอบแล้วในรายชื่อของนักเรียน ไม่มีรายชื่อนายสายชล และวุฒิการศึกษาที่นายสายชลได้รับจากผู้บริหารศูนย์รังสิต เป็นของปลอมทั้งหมด เมื่อหนังสือดำเนินการเรียบร้อยจะดำเนินการจัดส่งให้นายสายชลโดยเร็ว ซึ่งโดยส่วนตัวก็กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่แอบอ้างชื่อวิทยาลัย ปลอมแปลงลายเซ็น และปลอมเอกสารทั้งหมดหรือไม่

“วิทยาลัยอาชีวะไม่ว่าเอกชนหรือของรัฐ ที่สอนระดับ ปวช. ปวส. หรือต่ำกว่าระดับปริญญาตรีนั้น ตามพระราชบัญญัติการศึกษาไม่มีการอนุญาตให้ตั้งศูนย์ หรือให้มีการเรียนการสอนนอกสถานที่ การจะมีศูนย์ได้คือระดับอุดมศึกษาขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งปัจจุบัน การขอตั้งศูนย์การศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ค่อนข้างยาก จะต้องมีองค์ประกอบหลายๆอย่าง กรณีที่บอกว่ามีศูนย์นั้น คือมีการปลอมแปลงขึ้นมา และที่เขาอ้างว่ามีการทำ MOU กับสถาบันต่างๆ ซึ่งจริงๆ แล้ววิทยาลัยไม่มี ไม่ได้ทำ โดยเปิดวิทยาลัยมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ก็ไม่เคยมีลักษณะแบบนี้ มีน้อยก็สอนน้อย ซึ่งต่อมาได้มีการทำ MOU กับ CP ALL แห่งเดียวเท่านั้น มีการเรียนการสอนแบบทวิศึกษา คือเด็กที่จบปวช. หรือ ม. 6 มาเรียนที่วิทยาลัย 1 ภาคเรียน ภาคเรียนที่ 2 ที่ 3 ไปเรียนกับ CP ALL ที่กรุงเทพฯ ภาคเรียนที่ 4 จึงมาเรียนที่วิทยาลัยและจบที่วิทยาลัย ในหลักสูตรค้าปลีกเท่านั้น ที่อื่นๆ ไม่มี”

ส่วนคำว่า ทวิศึกษา วิทยาลัยจะต้องทำความร่วมมือระหว่าง สถานประกอบการ และ สถาบัน เท่านั้น และส่งข้อมูลนักศึกษาไปที่กระทรวงรับทราบด้วย ส่วนกรณีของนายสายชลที่ได้มายื่นเอกสารให้ตรวจสอบนั้น ตนเองได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่มีในระบบวิทยาลัยเหมือนกัน เพราะปกตินักเรียนจะต้องมีรหัสนักศึกษา แต่นี่ไม่มี วันเข้า-วันออกก็ไม่มี และเมื่อเห็นใบประกาศฯ ก็พบว่ามีการปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งไม่รู้ว่าใครปลอม ตนก็ยังไม่รู้

“เรื่องต้องมีที่มาที่ไป ซึ่งก็คือต้นสังกัดตรงนั้น คือที่ศูนย์รังสิตทำไม่ถูกต้อง จะมีความผิดอาญา มาตรา 52 คือปลอมแปลงเอกสารของหน่วยงานราชการ เราสามารถเอาผิดในส่วนนั้นได้ ส่วนกรณีมีการเปิดศูนย์ที่รังสิตโดยอ้างชื่อวิทยาลัยฯ นั้น ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ มีความผิด รวมทั้งกรณีของนายสายชล ที่เข้าเรียนปี 60 จบปี 63 ก็ต้องกลับไปย้อนดูว่ามีจุดเริ่มต้นจากที่ใดก็ให้ไปเอาคืนกับทางนั้น เงินทุกบาททุกสตางค์ ค่าเสียเวลา ค่าน้ำมัน ค่าเดินทางไปเรียน หรือความเสียหายอันเกิดจากการเรียนต่างๆ ก็ต้องคิดเป็นจำนวนเงินออกมา แล้วไปไล่เอากับศูนย์นั้น ทางวิทยาลัยหนองเรือ จ.ขอนแก่น ไม่รู้เรื่อง เพราะเขาแอบอ้างเอาชื่อไป ซึ่งกรณีการถูกแอบอ้างชื่อไปสร้างความเสื่อมเสีย เคยไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่แล้วหลายครั้งว่า มีเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไว้ ซึ่งถ้ามีเหตุแบบนี้ตนจะเอาผิด ส่วนกรณี นายสายชล เข้าศึกษาที่ศูนย์ดังกล่าว ช่วงปี 60 จบปี 63 พร้อมเพื่อนร่วมรุ่นทั้งสิ้นรวม 30 คน เชื่อได้ว่าทุกคนได้รับประกาศนียบัตรและวุฒิปลอม โดยมีการปลอมแปลงเอกสารทุกอย่าง รวมทั้งลายเซ็นปลอม”

ขณะที่ นายสายชล แสนคำ อายุ 34 ปี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังทราบคำตอบจาก ดร.อิทธิ สีวันนู ผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยฯ ว่าทั้งหมดคือของปลอม รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะตั้งใจเรียนที่ศูนย์รังสิตมา 2 ปี เพื่อนำประกาศนียบัตรไปประกอบการสมัครเข้ารับราชการที่กรมการขนส่งทางบก จนได้บรรจุเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา แต่ตอนนี้อนาคตดับวูบ การจะเลี้ยงดูพ่อแม่และครอบครัวก็คงจบสิ้นไปด้วย เพราะเชื่อว่ากรมการขนส่งทางบกน่าจะให้ออกจากงานที่ทำอยู่

อยากถาม นางก้อย (ผู้บริหารศูนย์การศึกษาศูนย์รังสิต) ว่า ที่บอกว่าการเรียนการสอนที่ศูนย์รังสิตเกิดขึ้นจากการทำบันทึกข้อตกลงกับทางวิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน และทุกอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ตนเสียค่าเทอม ได้รับใบเสร็จรับเงินจากบุคลากรที่ทำงานในศูนย์ จบการศึกษายังได้ไปรับใบประกาศที่โรงเรียนวัดผาสุข ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มีการถ่ายภาพขณะรับใบประกาศร่วมกับเพื่อนและอาจารย์ แต่วันนี้ผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยยืนยันว่า ทุกอย่างปลอมแปลงขึ้นมาทั้งหมด นางก้อยกับพวกอาจารย์และบุคลากรทุกคน ใครจะมารับผิดชอบชีวิตตน เพราะทุกอย่างมันพังหมดแล้ว งานก็ไม่มีทำ

นายสายชล ยังกล่าวอีกว่า ได้โทรศัพท์พูดคุยกับอาจารย์บางคน ที่เป็นอาจารย์ที่สอนในศูนย์รังสิต ซึ่งอาจารย์รายดังกล่าวยืนยันว่า อาจารย์มาสอนที่ศูนย์รังสิต เพราะนางก้อยชักชวนมา ว่าวิทยาลัยเช่าสถานที่เปิดเป็นศูนย์สอนนักเรียน จึงได้มาสอนนักเรียน จนจบหลักสูตร และพบว่าการเก็บเงินค่าเทอมจากนักเรียนที่เรียนในปี 2560-2562 นั้น ได้มีการโอนให้ผู้บริหารเป็นก้อน ครั้งละหลักแสนบาท อาจารย์ยังบอกอีกว่า ผู้บริหารศูนย์ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าโอนเงินให้ใคร เมื่อตนทราบรายละเอียดเช่นนี้ก็จะให้ญาติพาเข้าปรึกษากับอัยการคุ้มครองสิทธิ์ เพื่อหาทางออกในการเอาผิดกับทุกคนที่เกี่ยวข้องที่ทำวุฒิการศึกษาปลอม ทำลายชื่อเสียง ทำลายอนาคตของตน และขอยืนยันว่าจะเอาผิดกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา นายสายชล พร้อมญาติได้เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.ประสิทธิ์ แผงตัน สว.(สอบสวน) สภ.หนองเรือ เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้ว่า นายสายชลได้เข้าเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่สถาบัน Learning House ตั้งอยู่เลขที่ 903 ถนนรังสิต-นครนายก ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งอ้างว่าเป็นสาขาของวิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน จังหวัดขอนแก่น หลักสูตร 2 ปี 4 เทอม ประเภทวิชาอุตสาหกรรม สาชาวิชาเทคนิคเครื่องกล จนเรียนจบการศึกษา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2562 โดยได้ไปรับใบประกาศที่โรงเรียนวัดผาสุข ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในใบประกาศมีชื่อวิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา จังหวัดขอนแก่น

จากนั้นในวันที่ 17 เมษายน 2567 ได้ไปบรรจุรับราชการในกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร ซึ่งหน่วยงานตันสังกัดได้ตรวจสอบคุณสมบัติไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ทางสำนักงานฯ ได้ตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษาของวิทยาลัยเทคโนโลยีหนองเรือ ไทย-เยอรมัน ในปีการศึกษาดังกล่าว นายสายชลจึงได้เดินทางมาสอบถามที่วิทยาลัย และได้รับคำตอบจากผู้รับใบอนุญาตว่าเป็นวุฒิการศึกษาปลอม จึงมาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน และพนักงานสอบสวนเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายความผิดฉ้อโกง แต่สถานที่เกิดเหตุอยู่ในเขต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จึงได้แนะนำให้ นายสายชล ไปแจ้งความร้องทุกข์ในเขตท้องที่ สภ.ธัญบุรี ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินคดีกับบุคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *